วันพฤหัสบดีที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2558

ใช่เวลาในช่วงปิดเทอมให้คุ้ม

ใช้ช่วงเวลาปิดเทอมอย่างไรให้คุ้มค่า
ใกล้เวลาปิดเทอมใหญ่เข้ามาแล้ว พ่อแม่หลายๆ ท่าน อาจยังวิตกกังวลกับการต้องดูแลลูกๆ ในช่วงปิดภาคเรียน ไหนจะมีภาระงานที่ต้องสะสางทุกวัน แล้วยังต้องกังวลกับเจ้าตัวเล็ก ว่าจะให้ทำกิจกรรมอะไรในช่วงหยุดยาวๆ ดี ครั้นจะไม่หากิจกรรมใดๆ ให้ทำ ก็เกรงว่าจะเอาแต่จ่อมอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์หรือทีวี ซึ่งล้วนแต่ส่งผลเสียต่อสุขภาพของเด็กๆ ทั้งนั้น
เรามีข้อมูลจาก ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย มานำเสนอให้กับคุณพ่อคุณแม่ เพื่อให้ใช้เวลาในช่วงปิดเทอมสำหรับลูกๆ ให้คุ้มค่ามาฝาก
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ บอกไว้ว่า ในช่วงปิดเทอมระยะเวลายาวนานนี้ หากพ่อแม่ยังไม่มีแผนการใดๆ โดยคิดว่าปิดเทอมนี้ให้ลูกอยู่บ้านพักผ่อนบ้าง เนื่องจากเรียนหนักมามากพอแล้วตลอดปีที่ผ่านมาแล้ว...นั่นไม่ใช่ความคิดที่ดีที่สุดอย่างแน่นอน เพราะการไม่ได้วางแผนใช้เวลาอย่างดีเพียงพอจะนำมาซึ่งการสูญเสียโอกาสในการพัฒนาชีวิต เด็กๆ อาจใช้เวลาเรื่อยเปื่อยไปวันๆ โดยไม่ได้เกิดประโยชน์ใดๆ เช่น อยู่บ้านใช้เวลาไปกับการเล่นเกมคอมพิวเตอร์ มีทีวีเป็นเพื่อน กินๆ นอนๆ อยู่กับบ้าน ฯลฯ ทั้งๆ ที่ในวัยเด็กเป็นวัยที่อยากรู้อยากเห็นและมีพลังในการเรียนรู้อย่างไร้ขีดจำกัด การส่งเสริมในทางที่ถูกต้องจะนำมาซึ่งการพัฒนาการของเด็กอย่างเต็มศักยภาพ
การใช้เวลาไปในทางที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งพ่อแม่ที่ต้องทำงานจึงไม่สามารถอยู่กับลูกได้ตลอดเวลา ลูกอาจรู้สึกเบื่อหน่าย เหงา ไม่มีอะไรทำ จึงอาจไปเที่ยวเตร่ คบเพื่อนไม่ดี ถูกชักจูงไปในทางที่เสียหายได้โดยง่าย เช่น เหล้า บุหรี่ ยาเสพติด การพนัน มั่วสุมในร้านเกม เป็นต้น
ดังนั้น พ่อแม่จึงต้องรับบทบาทเพิ่มขึ้นในการดูแลลูกอย่างใกล้ชิด โดยการสวมบทบาทเป็น “ผู้จัดการส่วนตัว” ในการจัดสรรเวลาให้กับลูกอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งสวมบทบาทแทนโรงเรียนในการจัดกิจกรรม หลักสูตรการเรียนรู้ต่างๆ ให้กับลูกได้เรียนรู้และพัฒนาอย่างเต็มที่ตามแต่ละช่วงวัย
เริ่มจากสำรวจลูกมีความชอบหรือถนัดในด้านใดเป็นพิเศษ
พ่อแม่ควรรู้จักลูกของตนว่ามีความชื่นชอบหรือมีความถนัดในทักษะด้านใดเป็นพิเศษ อาทิ ความถนัดในด้านกีฬา ดนตรี เต้นรำ คอมพิวเตอร์ ภาษา ฯลฯ เพื่อส่งเสริมความสามารถของลูกในด้านที่ถนัดให้เด่นชัดและได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องผ่านการใช้เวลาฝึกฝนในช่วงปิดเทอม
หากยังไม่แน่ใจว่าลูกมีความถนัดหรือความสามารถพิเศษในด้านใด พ่อแม่สามารถพูดคุยแนะนำในการฝึกฝนพัฒนาทักษะต่างๆ ผ่านทางหนังสือ ทีวี หรือพาไปดูของจริง เช่น พาลูกไปดูการแข่งขันกีฬา การฝึกฝนกีฬาในโรงยิมฯ พาลูกไปดูการซ้อมดนตรี เป็นต้น เพื่อให้ลูกได้ค้นพบสิ่งที่ตนเองถนัดและชื่นชอบผ่านประสบการณ์จริง
อย่างไรก็ตาม ในเด็กแต่ละช่วงวัยหรือแม้แต่ในเด็กแต่ละคนนั้น ย่อมมีทักษะความสามารถที่แตกต่างกันไป เด็กที่มีทักษะในการเคลื่อนไหวร่างกายที่ดีย่อมส่งผลในการเล่นกีฬาประเภทต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ในขณะที่เด็กบางคนอาจร้องเพลง เล่นดนตรี หรือเขียนภาพได้ดี ดังนั้น พ่อแม่จึงไม่ควรบังคับให้ลูกเรียนหรือเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ในขณะที่ยังไม่รู้จักลูกของตนอย่างแท้จริง
สำรวจลูกมีจุดอ่อนและข้อบกพร่องในด้านใดที่ต้องรับการแก้ไข
พ่อแม่ควรสำรวจลูกของตนด้วยว่ามีจุดอ่อนในเรื่องใดที่ต้องได้รับการช่วยเหลือเป็นพิเศษ เพื่อที่จะใช้เวลาในช่วงปิดเทอมนี้เป็นโอกาสสำคัญในการแก้ไขหรืออุดจุดอ่อนดังกล่าวของลูกให้กลายเป็นจุดแข็ง อาทิ จุดอ่อนในเรื่องความมีระเบียบวินัย เช่น ลูกชอบนอนตื่นสาย เก็บข้าวของไม่เป็นระเบียบ ชอบผลัดวันประกันพรุ่ง ฯลฯ
จุดอ่อนด้านบุคลิกภาพ เช่น กิริยามารยาทในการเข้าสังคม การรับประทานอาหาร การเข้าหาผู้ใหญ่
จุดอ่อนในเรื่องความไม่มั่นใจในตนเอง อาทิ ความกลัวในการยืนหรือพูดต่อหน้าคนหมู่มาก กลัวไม่กล้าที่จะอาสาตัวเป็นผู้นำ
จุดอ่อนด้านลักษณะนิสัย อาทิ เอาแต่ใจตนเอง ไม่คำนึงถึงผู้อื่น เห็นแก่ตัว
จุดอ่อนด้านการเรียน อาทิ ลูกมีปัญหาด้านการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ สอบทีไรได้คะแนนคาบเส้น หรือต้องสอบซ่อมในทุกครั้ง
สำรวจหากิจกรรมต่างๆ ไว้เป็นฐานข้อมูลในการเลือก
ปัจจุบันมีทางเลือกที่หลากหลายสำหรับพ่อแม่ในการเลือกสรรกิจกรรมต่างๆ ให้กับลูกในช่วงปิดเทอม ไม่ว่าจะเป็นการจัดค่ายสำหรับเด็กในช่วงปิดเทอม โดยหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน หรือโรงเรียนของลูกเป็นผู้จัด อาทิ ค่ายวิทยาศาสตร์ ค่ายภาษาอังกฤษ หรือหลักสูตรการเรียนพิเศษกวดวิชาเพื่อเพิ่มเกรดหรือติวเข้าโรงเรียนดัง รวมทั้งคอร์สเรียนพิเศษในวิชาอื่นๆ เช่น ดนตรี กีฬา คอมพิวเตอร์ เป็นต้น
พ่อแม่ควรสำรวจกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้พร้อมบันทึกเก็บไว้เป็นฐานข้อมูลในการพิจารณาเลือกให้ลูก โดยการเสาะหาตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนลูกปิดเทอม ทั้งจากการไปดูสถานที่จริง โฆษณาในวารสาร แผ่นพับ ทีวี อินเทอร์เน็ต หรือสอบถามจากทางโรงเรียน ครูอาจารย์ เพื่อนผู้ปกครอง รวมทั้งญาติพี่น้องที่เคยส่งบุตรหลานเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว
ปัจจัยสำคัญที่พ่อแม่ควรนำมาประกอบการตัดสินใจเลือกกิจกรรมให้กับลูกนั้น ได้แก่ ความน่าเชื่อถือของหน่วยงานที่จัด ครูผู้สอน ความปลอดภัยในสถานที่ อุปกรณ์ และการจัดกิจกรรม ประโยชน์ที่ลูกได้รับ ความคุ้มค่าคุ้มราคากับเงินที่เสียไป ความสะดวกในการเดินทาง เป็นต้น ทั้งนี้การเลือกสรรกิจกรรมให้ลูกนั้นควรเป็นไปด้วยความสมัครใจและให้ลูกมีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วยเช่นกัน
พ่อแม่ไม่ควรเลือกกิจกรรมให้กับลูกโดยอิงไปตามแฟชั่นค่านิยมในสังคมหรือตามกระแสภาพยนตร์ ที่กำลังมาแรง โดยไม่คำนึงถึงความชอบของลูกหรือประโยชน์ความคุ้มค่าที่ได้รับ หรือพยายามกดดันลูกอย่างหนักให้เรียนพิเศษแต่เพียงอย่างเดียว แต่ในการพิจารณาเลือกกิจกรรมหรือหลักสูตรวิชาต่างๆ ให้ลูกได้เรียนในช่วงปิดเทอมนั้น พ่อแม่ควรมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนว่าต้องการให้ลูกได้รับประโยชน์ในด้านใด เช่น ประโยชน์ในการพัฒนาทักษะที่มีความจำเป็นในโลกอนาคต เช่น การเรียนภาษาอังกฤษ ภาษาจีน หลักสูตรคอมพิวเตอร์ ที่มีความสำคัญในการศึกษาและประกอบอาชีพต่อไปในอนาคต ประโยชน์ในการเสริมพื้นฐานในการเรียน เพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจในวิชาที่เป็นจุดแข็ง ช่วยเหลือและแก้ไขในวิชาที่เป็นจุดอ่อนของลูก ดังที่ได้กล่าวไปแล้วในตอนต้น
ประโยชน์ในการเสริมสร้างลักษณะชีวิต โดยพ่อแม่อาจส่งลูกไปเข้าค่ายต่างๆ ที่มีบริบทของการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน การทำงานเป็นทีม เพื่อเสริมสร้างลักษณะชีวิตที่ดีงาม อาทิ การมีระเบียบวินัย ความเสียสละ การมีจิตสาธารณะ รวมทั้งฝึกฝนทักษะต่าง ๆ ในการเข้าสังคม เช่น การเป็นผู้นำ การพูดต่อหน้าชุมชน เป็นต้น
ประโยชน์ในด้านสุขภาพร่างกาย โดยการฝึกฝนทักษะกีฬาประเภทต่างๆ เพื่อสร้างเสริมสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง เช่น ว่ายน้ำ ฟุตบอล มวยไทย เทควันโด ฯลฯ ซึ่งนอกจากจะเป็นประโยชน์ในด้านสุขภาพพลานามัยแล้ว กีฬาบางประเภทยังเป็นการฝึกฝนทักษะการคิดเชิงกลยุทธ์ การป้องกันตัว ฝึกฝนการทำงานร่วมกันเป็นทีม การรู้แพ้รู้ชนะ ความมีน้ำใจนักกีฬา ด้วยเช่นกัน
สมดุลในการใช้เวลา
ระยะเวลาในช่วงปิดเทอมที่จำกัด พ่อแม่ไม่ควรยัดเยียดกิจกรรมต่างๆ ให้ลูกมากเกินไป เช่น ส่งให้ลูกไปเรียนพิเศษวิชาคณิตศาสตร์อย่างเดียวตั้งแต่เช้าถึงค่ำ จัดโปรแกรมอัดแน่นให้ลูกเรียนภาษาอังกฤษตอนเช้า เรียนดนตรีตอนบ่าย เรียนว่ายน้ำตอนเย็น เรียนเสริมคณิตศาสตร์ในตอนค่ำ ฯลฯ อาจส่งผลให้ลูกเกิดความเครียด เหนื่อยล้า เกิดความเบื่อหน่ายไม่อยากเข้าเรียนหรือเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ในที่สุด
พ่อแม่จึงควรจัดตารางเวลาในช่วงปิดเทอมให้กับลูกอย่างสมจริงมีความครบถ้วนสมดุลในทุกมิติของชีวิต ทั้งด้านสุขภาพร่างกาย การพักผ่อนหย่อนใจ การเดินทางท่องเที่ยว การใช้เวลากับเพื่อนฝูง ครอบครัว ญาติพี่น้อง ฯลฯ โดยการให้ลูกมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการทำตารางเวลาร่วมกัน ว่าตลอดช่วงระยะเวลาปิดเทอมนี้ลูกจะทำอะไรบ้าง คล้ายๆ กับการจัดตารางสอนในโรงเรียนของลูก เพื่อให้ลูกใช้เวลาในช่วงปิดเทอมใหญ่นี้อย่างมีเป้าหมายรู้ว่าในแต่ละวันนั้นเขาต้องทำอะไร โดยพ่อแม่ควรติดตามประเมินผลการใช้เวลาของลูกอย่างใกล้ชิด อาจด้วยการสอบถามหรือให้ลูกจดบันทึกการใช้เวลาให้พ่อแม่ดูในแต่ละวันว่าลูกได้เรียนรู้สิ่งใหม่ในเรื่องใด อะไรที่เป็นปัญหาสำหรับลูก และลูกมีแนวทางในการแก้ปัญหาดังกล่าวนั้นอย่างไร โดยอาจเป็นในรูปแบบของการจดไดอารี่และมีการให้รางวัลแก่ลูกหากสามารถจดบันทึกได้อย่างครบทุกวันตลอดในช่วงปิดเทอม
ทั้งนี้ พ่อแม่ไม่ควรลืมที่จะเตรียมพร้อมในเรื่องของ “ค่าใช้จ่าย” ด้วยเช่นกัน โดยการวางแผนล่วงหน้าก่อนที่ลูกจะปิดเทอม เพราะหากไม่เตรียมการล่วงหน้า อาจนำมาซึ่งความฉุกละหุก เนื่องจากไม่สามารถจัดหาค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มาได้อย่างเพียงพอ
สุดท้ายพ่อแม่ควรมองว่าช่วงเวลาในการปิดเทอมของลูกนั้น แท้จริงแล้วเป็นโอกาสอันดีในการที่ลูกจะสามารถอยู่ใกล้ชิดกับพ่อแม่มากยิ่งขึ้น พ่อแม่ไม่ควรมองว่าการปิดเทอมเป็นภาระที่จะต้องหาคนมาช่วยดูแลหรือต้องหากิจกรรมต่างๆ มาให้ลูกทำในระหว่างที่พ่อแม่ไปทำงานเท่านั้น แต่ควรมองว่าเป็นเวลาทองที่จะมีโอกาสได้ใช้เวลาร่วมกันกับลูกอย่างเต็มที่ เช่น ในกรณีที่พ่อแม่เป็นเจ้าของกิจการ หรือประกอบอาชีพอิสระ พ่อแม่สามารถพาลูกไปในที่ทำงาน หรือติดตามตนไปทำงานนอกสถานที่ด้วยกัน เพื่อให้ลูกได้เห็นบริบทการทำงานจริงของพ่อแม่ว่าเหนื่อยยากเพียงใด ได้เรียนรู้และรับการถ่ายทอดวิธีการทำงานของพ่อแม่รวมทั้งพ่อแม่เองสามารถใช้ช่วงเวลาดังกล่าวในการอบรมสั่งสอนลูกได้จากตัวอย่างจริง วางแผนลาพักร้อนยาวพาลูกไปท่องเที่ยว หรือไปเยี่ยมญาติที่ต่างจังหวัดร่วมกัน จัดทำโครงการระยะยาวร่วมกันกับลูกในช่วงปิดเทอม อาทิ มอบหมายให้ลูกทาสีรั้วบ้าน ปลูกผักสวนครัว ซ่อมข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้าน
เพียงเท่านี้ช่วงเวลาปิดเทอมใหญ่ย่อมกลายเป็นช่วงเวลาที่เกิดประโยชน์คุ้มค่าอันนำมาซึ่งความสุขความประทับใจให้กับสมาชิกทุกคนในครอบครัว ทั้งในด้านการพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถของลูก การที่ลูกได้ทำในสิ่งที่ตนเองถนัดและชื่นชอบ รวมทั้งการที่พ่อแม่เองจะได้มีโอกาสใช้เวลาทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับลูกมากยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น